ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ ท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม ได้นำชาวลาวจำนวนกว่าสองพันคน เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในจำนวนนั้นมีชายฉกรรจ์ ๘๖๐ คน จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองมหาวงศ์ เมืองสมุทรปราการ และโปรดเกล้า ฯ ให้ท้าวอินอินศาล บุตรท้าวไชยอุปราช เป็นพระยาปลัดเมืองสมุทรปราการ (ปลัดลาว) เพื่อดูแลกลุ่มคนลาวดังกล่าว ลาวกลุ่มนี้เรียกว่าลาวอาสาปากน้ำ ต่อมาลาวกลุ่มนี้ได้ขอไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองพระรถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา และได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๑ ชื่อเมืองพนัสนิคม
เจ้าเมืองชื่อพระอินทรอาษา
สะพานข้ามเกาะลอย ศรีราชา ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐
ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ เจ้าเมืองพนัสนิคมได้รับมอบให้นำกำลังไปจุกช่องล้อมวงอารักขาเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศ เมื่อทรงรับการอัญเชิญขึ้นครองราชย์ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เชื้อสายของพระอินทรอาษาได้ปกครองเมืองพนัสนิคมสืบต่อมาจนเมืองพนัสนิคมโอนไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ โดยรวมอยู่ในมณฑลปราจีนบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ได้เปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดชลบุรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื้อสายพระอินทรอาษาได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ทุมมานนท์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น