รายการบล็อกของฉัน

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดชลบุรี

ชลบุรี เป็นดินแดนที่มีผู้คนมาอาศัยมาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์  ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่ตำบลโคกพนมดี  อำเภอ พนัสนิคม  ได้พบร่องรอยของชุมชนโบราณก่อนสมัยประวัติศาสตร์  โคกพนมดีเป็นเชลล์มาวด์ที่ใหญ่โตแห่งหนึ่ง  ซึ่งยังไม่เคยพบใน ประเทศทางเอเซียอาคเนย์อื่น ๆ จากการศึกษาโครงกระดูกมุนษย์และโบราณวัตถุที่พบ  เช่น  เครื่องมือหินขัด  เครื่องปั้นดินเผาแบบ เชือกทาบ  รวมทั้งเครื่องประดับที่ทำด้วยเปลือกหอยและหินมีค่า  แสดงว่าเป็นชุมชนที่มีความเจริญอยู่ในระดับยุคหินใหม่  การค้นพบ แห่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่โคกพนมดีนี้  ย่อมแสดงให้เห็นว่าบริเวณจังหวัดชลบุรี  เป็นดินแดนที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ยุคหิน ใหม่แล้ว  ส่วนชุมขนที่พัฒนาเป็นบ้านเมืองสำคัญในยุคแรกของประวัติศาสตร์ในเขตจังหวัดชลบุรี  ได้แก่  เมืองพระรถ  เมืองพญาเร่ และ เมืองศรีพโล

ยุคก่อนประวัติศาสตร์  จากการสำรวจในช่วง ปี พ.ศ.๒๕๑๖ - พ.ศ.๒๕๒๘ ในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม อำเภอพานทอง อำเภอบ่อทอง และอำเภอเมือง ฯ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็่นดินแดนที่มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เป็นชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถึงยุคประวัติศาสตร์ นับแต่เขาชะอางห้ายอดในแหล่งโบราณคดีกลุ่มเขาชะอาง อำเภอบ่อทอง ชุมชนโคกพนบดี โคกพุทรา อำเภอพนัสนิคม ชุมชนโคกระกา โคกกะเหรี่ยง อำเภอพานทอง และชุมชนเนินสำโรง อำเภอเมือง ฯ
โคกพนบดี  เป็นเนินดินขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายเกาะที่ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่ม มีรูปร่างค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๓๐ เมตร มีพื้นที่ประมาณ ๒๘ ไร่ จุดสูงสุดจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๑๒ เมตร อยู่ในเขตตำบลท่าข้ามอำเภอพนัสนิคม

ผลการศึกษาพบว่า โคกพนบดีเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณที่สามารถสร้างเครื่องมือหิน (ขวานหินขัด หินลับ หินบด ค้อนหิน หินกรวดสำหรับขัดผิว ภาชนะและกำไลหิน) เครื่องมือที่ทำจากกระดูกสัตว์เช่น ฉมวก เครื่องมือที่ทำจากหอยเช่น มีด สิ่ว เครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอย และภาชนะดินเผาแบบเชือกทาบ เป็นชุมชนที่อพยพ และเปลี่ยนแปลงมาจากสังคมแบบดั้งเดิม ซึ่งมักอาศัยอยู่ในที่สูงดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และแสวงหาอาหารจากธรรมชาติ ต่อมาอพยพลงมาอยู่ที่โคกพนบดี ซึ่งในครั้งนั้นเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งจากป่าและทะเล มีผู้เสนอข้อคิดเห็นว่าเนินดินแห่งนี้เป็น shell Mound สมัยก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซียอาคเนย์ ต่อมาผู้คนเหล่านั้นก็เริ่มพัฒนาการดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกแบบเริ่มแรก ควบคู่กันไปกับการแสวงหาอาหารจากทะเล และล่าสัตว์ขนาดเล็ก
มีผู้ให้ความเห็นว่า การตั้งถิ่นฐานที่โคกพนบดีนี้น่าจะมีสองสมัยคือ สมัยแรก มีอายุประมาณ ๘,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ดำรงชีพด้วยทรัพยากรจากทะเลเป็นสำคัญ (พบเปลือกหอย ก้างปลา กระดองเต่า และก้ามปู จำนวนมาก)  สมัยที่สอง มีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชุมชนน่าจะขยายตัวใหญ่ขึ้น เพราะได้พบภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก เริ่มปลูกข้าว (พบเมล็ดข้าวที่เป็นถ่าน)

โคกระทา  อยู่ที่บ้านโคกระทา ตำบลนาประดู่ อำเภอพานทอง ลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างยาว ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ - ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนสูงสุดของเนินอยู่ทางตอนเหนือสูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ ๖ เมตร ทางตอนใต้ของโคกระทามีลำน้ำเก่าไหลผ่าน เรียกว่า คลองสายบัว ไหลไปบรรจบคลองบางนาที่ไหลไปบรรจบแม่น้ำบางชะกง

จากการศึกษา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ ด้วยวิธีขุดตรวจทางโบราณคดี ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ห้าโครง และสิ่งของที่ใส่ให้กับศพเช่น เครื่องประดับที่ทำด้วยสำริด ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน กำไลเปลือกหอย ฯลฯ นอกจากนั้นยังพบเครื่องใช้จำพวกภาชนะดินเผา ลูกกระดุมดินเผา เบี้ยดินเผา หินดุ ถ้วยสำริด แหวนสำริด ชิ้นส่วนกำไลสำริด

จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่า ชุมชนโบราณบ้านโคกระทาเป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาตร์ตอนปลาย (ยุคสำริด) ขนาดใหญ่ที่มีการติดต่อกับชุมชนร่วมสมัยอื่น ๆ ในภาคกลางของไทยและอาจมีความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น ๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
โคกกะเหรี่ยง หรือ โคกฝรั่ง  อยู่ในเขตตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง เป็นเนินดินรูปกลมขนาดใหญ่สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๕ เมตร ก่อนที่กลุ่มคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก จะเข้ามาจับจองอยู่ถึงปัจจุบัน เคยเป็นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยง

จากการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ได้พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ มีการตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ รูปแบบภาชนะส่วนใหญ่ มีรูปทรงคล้ายบาตรพระ เศษกระเบื้องดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิสูง พบเพียงสามชิ้นเป็นชนิดเคลือบเขียว ไม่เคลือบหนึ่งชิ้น นอกจากนั้นยังพบกระดูกสัตว์ และเปลือกหอยหลายชนิด

จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่า เป็นชุมชนขนาดใหญ่ อาจร่วมสมัยกับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่โคกพนบดี และโคกระทา มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
เนินสำโรง  เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ (สมัยทวารวดี) ตั้งอยู่ที่มาบสามเกลียว ตำบลหัวร่อ อำเภอเมือง ฯ เป็นเนินดินขนาดเล็ก อยู่กลางพื้นนาสูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๒ เมตร

จากการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ พบโบราณวัตถุกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะตอนกลางเนิน ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ตกแต่งผิวภาชนะด้วยลายเชือกทาบ เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง เผาด้วยอุณหภูมิสูงชนิดไม่เคลือบ ผิวสีน้ำตาลเข้ม ตกแต่งผิวด้วยลายขีด เศษภาชนะดินเผา เครื่องถ้วยชนิดเคลือบ มีสีผิวต่าง ๆ เช่น เคลือบน้ำตาลคล้ำ เคลือบเขียว และขาวขุ่น นอกจากนั้นยังพบอิฐขนาดต่าง ๆ และเปลือกหอยแครง

จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่า เนินนี้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ถึงสมัยทวารวดี

จากการพบแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ในเขตอำเภอบ่อทอง อำเภอพนัสนิคม อำเภอพานทอง จนถึงทางเหนือของอำเภอเมือง (ตำบลหัวร่อ) ปัจจุบันเป็นพื้นที่มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาตร์ กลุ่มแรกอาศัยอยู่ตามถ้ำและเพิงผา กลุ่มต่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเนินดิน ที่ล้อมรอบด้วยป่าชายเลน หรือป่าโกงกาง แล้วขยับลงมายังที่ราบ จากนั้นก็พัฒนาเป็นบ้านเมืองในสมัยประวัติศาสตร์
ยุคประวัติศาสตร์ก่อนสมัยสุโขทัย  ชุมชนที่พัฒนาเป็นบ้านเป็นเมืองในยุคแรก ๆ ของประวัติศาสตร์ในเขตจังหวัดชลบุรี ได้แก่ เมืองพระรถ เมืองพญาเร่ และ เมืองศรีพโล (ศรีพะโร)

เมืองพระรถ เป็นชุมชนเมืองโบราณ อยู่ที่บ้านหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม อยู่ห่างจากตัวอำเภอพนัสนิคม มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๑ กิโลเมตร ปัจจุบันถนนฉะเชิงเทรา - พนัสนิคม ตัดทับส่วนหนึ่งของกำแพงและคูเมืองด้านทิศตะวันออก

จากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ เชื่อว่าเมืองนี้เป็นเมืองในสมัยทวารวดี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖) และเจริญสืบเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘)

โบราณสถาน  มีอยู่สองประเภทคือ ร่องรอยผังเมืองและศาสนสถาน ผังเมืองพระรถเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๑,๕๕๐ x ๘๕๐ เมตร กำแพงเมืองเป็นคันดินสองชั้นสูงจากพื้นดินประมาณสองศอกเศษ ห่างกันชั้นละห้าวา คูเมืองกว้างประมาณสามศอก

ศาสนสถานที่พบคือ เนินพระธาตุ ซึ่งอยู่ตอนหลังของตัวเมืองด้านตะวันตก เป็นเนินพระสถูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ เป็นฐานสถูปแบบทวารวดี

ทางด้านเหนือของเนินพระธาตุมีเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ติดกับสระน้ำโบราณ ชาวบ้านเรียกว่า สระฆ้อง บนเนินนี้มีหินปักอยู่ตามมุมทิศสำคัญ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นฐานโบสถ์หรือวิหาร

โบราณวัตถุ ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา ทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบกระจายอยู่ทั่วไป ชิ้นส่วนของเทวรูปพระนารายณ์ สวมหมวกแขก พระพุทธรูปแบบทวารวดีปางนาคปรก หินบดยา กังสดาลและแท่นพระพุทธรูปทำด้วยหินขนาดใหญ่

ส่วนโบราณวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ที่พบได้แก่ พระพุทธรูปสำริดแบบลพบุรี พระพุทธรูปศิลาแบบทวารวดี เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืนเหนือตัวพนัศบดี (พนัสบดี เป็นสัตว์ที่มีส่วนผสมของครุฑ หงส์ และวัว คือมีปากเป็นครุฑ มีเขาเป็นวัว และมีปีกคล้ายหงส์ ซึ่งเป็นลักษณะที่รวมพาหนะของเทพเจ้าทั้งสามในศาสนาฮินดู)  พระพุทธรูปองค์นี้ชาวบ้านพบที่คูเมืองด้านใต้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกกันว่า พระพนัสบดี เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอพนัสนิคมโบราณวัตถุที่พบเกือบทั้งหมดเป็นศาสนวัตถุ มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดีมาถึงสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘)

เมืองพระรถ จัดว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่สมัยทวารวดี ตั้งอยู่ระหว่างที่สูงและที่ลุ่มมาบรรจบกัน บริเวณรอบเมืองเป็นพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวแบบทดน้ำ มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย ลำน้ำที่ไหลผ่านเข้ามาในเขตเมืองพระรถ ได้แก่ คลองสระกลาง คลองหลวง คลองพานทอง คลองสระกลางไหลมาทางด้านทิศใต้ ผ่านตัวอำเภอพนัสนิคมและวัดเกาะแก้ว มายังคูเมืองพระรถด้านตะวันออกเรียกว่า คลองเมือง ดังนั้นเมืองนี้จึงมีสภาพเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมท้องถิ่น เพราะมีลำน้ำต่าง ๆ เชื่อมต่อกับชุมชนร่วมสมัยอื่น ๆ เช่นเมืองศรีมโหสถ เมืองพญาเร่ เมืองศรีพโล

เมืองพญาเร่ (พญาเล่ห์)  อยู่ในเขตตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง เป็นเมืองสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ในเขตที่สูง ห่างจากเมืองพระรถประมาณ ๓๒ กิโลเมตร

โบราณสถาน  มีเพียงร่องรอยผังเมือง เป็นรูปรีสองชั้น ชั้นในมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐๐ เมตร ชั้นนอกประมาณ ๑,๑๐๐ เมตร คูเมืองและคันดินของตัวเมืองชั้นนอกทางด้านเหนือยังเห็นได้ชัดเจน ส่วนด้านอื่นลบเลือนไปมากแล้ว ส่วนเมืองชั้นในยังอยู่ในสภาพดี กำแพงเมืองที่เหลืออยู่สูงประมาณ ๑ เมตร จากระดับคูน้ำ คูเมืองตอนกว้างสุด กว้างประมาณ ๑๑ เมตร ภายในเมืองไม่พบโคกเนินที่เป็นศาสนสถาน

โบราณวัตถุ พบเพียงเศษเครื่องปั้นดินเผาเล็กน้อย เคยมีผู้พบกำไลสำริด และหม้อดินเผา มีผู้สันนิษฐานว่า เมืองนี้อาจไม่ใช่เมืองที่มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องหลายสมัยอย่างเมืองพระรถ อาจเป็นเมืองชั่วคราว หรือเมืองบนเส้นทางติดต่อทางบก ระหว่างชลบุรีกับระยองในสมัยโบราณ

เมืองศรีพโล (ศรีพะโร)  เป็นเมืองท่าอยู่บนเส้นทางเดินทะเล ตั้งอยู่ที่บ้านศรีพโล ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมือง ตัวเมืองตั้งอยู่บนเขาดิน ก่อนจะข้ามไปเขาบางทรายทางตะวันออกเฉียงใต้ ด้านตะวันตกและด้านเหนือของเมือง ติดต่อกับที่ราบลุ่มชื้นแฉะริมทะเล เป็นขอบของอ่าวบางปะกง โบราณสถาน กำแพงเมือง ซึ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๒ ยังปรากฎเห็นอยู่และถูกทำลายไปเมื่อมีการสร้างถนนสุขุมวิท และการสร้างสนามกีฬาประจำเมืองชลบุรี กล่าวกันว่าเมืองนี้มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม เคยมีกำแพงดินสูงจากพื้นดินประมาณ ๓ เมตร โอบรอบ ไม่มีคูน้ำ เพราะตัวเมืองตั้งอยู่บนที่สูง โบราณวัตถุ ที่พบได้แก่เครื่องปั้นดินเผา ทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ มีเศษเครื่องปั้นดินเผาชนิดเคลือบของสุโขทัยปะปนอยู่ กับเครื่องปั้นดินเผาแบบจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง (เคลือบสีน้ำเงินขาว) ที่วัดศรีพโล ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเป็นบริเวณที่พบเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมาก เช่น กระปุกถ้วยชามเคลือบแบบสุโขทัย แบบจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง ตุ๊กตาเคลือบสมัยสุโขทัย เครื่องประดับหลังคาเคลือบ กระเบื้องดินเผาเชิงชายหลังคา ทำเป็นรูปเทพพนมอยู่ในซุ้มเรือนแก้วแบบอยุธยา  กำไลสำริด แม่พิมพ์ พระพุทธรูปดินเผาแบบอู่ทอง พระพุทธรูปเนื้อชินปางลีลา เต้าปูนสำริด เศษหม้อทะนนมีลวดลายประดับ ชามเคลือบบาง ๆ ของญวน แบบที่พบในเรือที่จมอยู่ในอ่าวไทย และยังพบขวานหินขัดอีกอันหนึ่งบริเวณวัดศรีพโลคาดว่าจะเคยมีวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไปตั้งอยู่ เพราะพบเศษปูน ใบเสมาหินทรายที่ปักเขตโบสถ์เหลืออยู่

จากโบราณวัตถุที่พบเมืองนี้น่าจะมีความรุ่งเรืองอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จากตำแหน่งที่ตั้งของเมืองและโบราณวัตถุที่พบ เข้าใจว่าเมืองนี้คงเป็นชุมชนเมืองที่เกี่ยวกับการค้า เป็นที่จอดพักเรือสินค้าแถบอ่าวบางปะกง มีเรือค้าขายจากจีน เวียดนาม และกัมพูชา มาจอดพักก่อนเดินทางต่อไป

ชุมชนโบราณริมฝั่งทะเลในเขตจังหวัดชลบุรีที่ปรากฎชื่อในแผนที่ไตรภูมิ สมัยอยุธยามีอยู่สี่ชุมชนคือ บางทราย บางปลาสร้อย บางพระเรือ และบางละมุง ชุมชนบางทรายคือชุมชนเมืองศรีพโล และก็คือเมืองชลบุรี ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นขึ้นไป (พุทธศตวรรษที่ ๑๙)

1 ความคิดเห็น: