ในปี พ.ศ.๒๓๘๑ หมอบรัดเล มิชชันนารี ชาวอเมริกันได้เข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนาในกรุงเทพ ฯ ได้เดินทางมาเที่ยวทะเลแถบบางปลาสร้อย อ่างศิลา แล้วขึ้นบกเดินทางต่อไปเขาเขียว ซึ่งอยู่ทางด้านหลังบางพระเข้าไป หมอบรัดเลได้บันทึกการเดินทางครั้งนั้นว่าสนุกเพลิดเพลินมาก นอกจากชาวตะวันตกแล้ว เจ้านายของไทยก็นิยมไปพักผ่อนตากอากาศชายทะเลและพักฟื้นจากการเจ็บป่วยที่จังหวัดชลบุรีด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น ชลบุรียังเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้กระยาเลย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงเกษตร ได้ขอสัมปทานทำป่าไม้กระยาเลยที่ศรีราชา ตั้งบริษัทป่าไม้ศรีราชา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นที่รู้จักกันในสมัยต่อมาว่า บริษัทศรีมหาราชา
โรงแรมบางแสนบีช ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เคยเสด็จประพาสและประทับแรมที่อ่าวศิลาหลายครั้งแล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่า อ่างศิลามีศิลาใต้น้ำมาก เวลาน้ำลงจะมีศิลาและเลนลาดออกไปจากฝั่งเป็นระยะทางยาวไม่สะดวกในการจอดเรือเทียบท่า จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เสนาบดีกรมท่าสร้างสะพานหินให้ยาวออกไปในทะเลจนพ้นเขตศิลาใต้น้ำ เพื่อสะดวกแก่เรือพาณิชย์ที่มาแวะจอดเทียบท่าขนถ่ายสินค้าในบางฤดูกาล
การสร้างอาศรัยสถานและด่านหลวงที่อ่างศิลา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะเคยเสด็จมาประทับแรมที่อ่างศิลาหลายครั้ง แต่มิได้ทรงสร้างวังที่ประทับแต่อย่างใด เพียงแต่โปรดเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สร้างพลับพลาเล็ก ๆ หลังเดียว เวลาประทับค้างแรมจะประทับแรมในเรือพระที่นั่ง ต่อมา เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
สมุหกลาโหมได้สร้างอาคารก่ออิฐถือปูนไว้เป็นที่พักฟื้นคนป่วยหลังหนึ่ง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (เจ้าคุณกรมท่า) สร้างอีกหลังหนึ่ง อาคารดังกล่าวชาวต่างประเทศได้ไปพักอาศัยอยู่เสมอเรียกกันในสมัยนั้นว่า อาศรัยสถาน อาคารทั้งสองหลังได้รับการบูรณะซ่อมแซมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ และได้รับพระราชทานนามว่า ตึกมหาราชและตึกราชินี ผู้ใดประสงค์จะเข้าพักรักษาตน เมื่อได้รับอนุญาตจากเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้วก็เข้าพักอาศัยได้ โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า
ในปี พ.ศ.๒๔๑๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปรับพระเศวตสุวภาพรรณ ที่สระบุรี และเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทกับพระพุทธฉายแล้ว ได้เสด็จกลับทางนครนายก ปราจีนบุรีและมาที่อ่างศิลา ครั้งนั้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เสนาบดีกรมท่า ได้ออกมาสร้างพลับพลารับเสด็จที่อ่างศิลาเป็นพลับพลาที่สร้างค่อนข้างถาวร เพื่อจะได้ใช้ในโอกาศต่อไปด้วย โดยสร้างเป็นค่ายหลวงใหญ่ มีท้องพระโรงและพระที่นั่ง มีเรือนข้างหน้าข้างในใหญ่โต พร้อมทุกพนักงาน
วัดจีนอ่างศิลา (วัดอ่างศิลา) ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐
ยกบ้านอ่างศิลาขึ้นเป็นเมือง ในปี พ.ศ.๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับจากเสด็จประพาสเมืองจันทบุรีมาถึงอ่างศิลา ทรงพอพระทัยปลัดจีนเมืองชลบุรี ที่เสนาบดีกรมท่าจัดมาเป็นผู้ดูแลรักษา ค่ายหลวงอ่างศิลาที่ดูแลรักษาไว้ได้ดีมาก จึงมีรับสั่งกับเสนาบดีกรมท่าว่าจะยกบ้านอ่างศิลาให้เป็นเมืองหนึ่งขึ้นกับเมืองชลบุรี ด้วยเห็นว่า ที่บ้านอ่างศิลามีคนอยู่มากและจะทรงแต่งตั้งปลัดที่ดูแลความเรียบร้อย ที่บ้านอ่างศิลาในขณะนั้นขึ้นเป็นเจ้าเมือง เมืองอ่างศิลาเปลี่ยนฐานะมาเป็นอำเภอในจังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่ไม่มากในปัจจุบัน ทำให้ทราบได้ว่า ชลบุรีมีร่องรอยการตั้งชุมชนเก่าแก่ในยุคหินขัดอยู่ด้วย เช่น บริเวณที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำพานทองเคยมีมนุษย์ในยุคหินใหม่อาศัยอยู่ โดยชนกลุ่มนี้นิยมใช้ขวานหินขัดเพื่อการเก็บหาล่าไล่ รวมถึงการใช้ลูกปัดและกำไล ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาซึ่งมีลายที่เกิดจากการใช้เชือกทาบลงไปขณะดินยังไม่แห้ง นอกจากนี้ยังพบเศษอาหารทะเลพวกหอย ปู และปลาอีกด้วย
ในสมัยทวารวดีและสมัยลพบุรี ประมาณ 1,400-700 ปีก่อน บริเวณตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคมในปัจจุบัน มีร่องรอยของเมืองใหญ่ชื่อ “เมืองพระรถ” ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มซึ่งแม่น้ำหลายสายไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำพานทอง โดยสามารถใช้แม่น้ำสายนี้เป็นทางคมนาคมติดต่อกับเมืองศรีมโหสถในจังหวัดปราจีนบุรี จนไปถึงอรัญประเทศได้ อีกทั้งยังมีเส้นทางเดินเท้าเชื่อมไปถึงจังหวัดระยองและจันทบุรี ผ่านเมืองพญาเร่ซึ่งเป็นเมืองโบราณสำคัญอีกแห่งหนึ่งของชลบุรี เมืองพระรถจึงกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของชลบุรีในยุคนั้น
งานประจำปีจังหวัดชลบุรี ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐
ถัดลงมาทางทิศใต้ตามลำน้ำพานทองช่วงออกทะเลที่ปากน้ำบางปะกง ในอดีตยังมีเมืองสำคัญอีกแห่งตั้งอยู่ชื่อ “เมืองศรีพโล” โดยเมื่อ 600 ปีก่อนในสมัยสุโขทัย เมืองนี้มีฐานะเป็นเมืองท่าชายทะเลที่มั่งคั่ง เปิดรับเรือสำเภาจากจีน กัมพูชา และเวียดนาม ให้มาจอดพักก่อนเดินทางต่อไปยังปากน้ำเจ้าพระยา (เป็นที่น่าเสียดายว่ากำแพงเมืองศรีพโลได้ถูกทำลายไปหมดสิ้นจากการก่อสร้างถนนสุขุมวิท จึงไม่เหลือร่องรอยทางโบราณคดีไว้ให้ศึกษาอีกต่อไป) ต่อมาในสมัยอยุธยา เมืองศรีพโลก็ค่อยๆ หมดความสำคัญลง อาจเพราะปากแม่น้ำตื้นเขินจากการพัดพาสะสมของตะกอนจำนวนมหาศาล ประชาชนจึงย้ายถิ่นฐานลงมาสร้างเมืองใหม่ที่ “บางปลาสร้อย” ซึ่งก็คือ “เมืองชลบุรี” ในปัจจุบัน (วัดใหญ่อินทารามในตัวเมืองชลบุรีปัจจุบัน ยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังการค้าขายระหว่างคนไทย จีน และฝรั่ง บ่งบอกถึงบรรยากาศการค้าขายอันคึกคักในอดีต)
ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระอินทอาษา ชาวเมืองเวียงจันทน์พาชาวลาวจำนวนหนึ่งมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งถิ่นอาศัยอยู่ระหว่างเมืองชลบุรีและฉะเชิงเทรา (บริเวณเมืองพนัสนิคมในปัจจุบัน) ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้รวบรวมเมืองเล็กๆ ต่างๆเข้าด้วยกันจนกลายเป็น “จังหวัดชลบุรี” ดังเช่นทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น